เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 50ในตลาดโลกกล้วยไม้ลูกผสม "สกุลฟาแลนนอพซิส" เป็นไม้ดอกกระถางที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในญี่ปุ่น เกาหลี เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา
ทว่า การผลิตกล้วยไม้เชิงพาณิชย์เพื่อให้ได้ปริมาณมากๆ สำหรับส่งออกนั้นไม่ง่าย ต้องขยายพันธุ์ด้วยวิธี "เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ" แต่กระบวนการดังกล่าวก็มีข้อจำกัดเช่นกัน เนื่องจากห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนใหญ่ใช้แสงไฟฟลูออเรสเซนต์ เจ้าของธุรกิจจึงต้องแบกรับต้นทุนค่าไฟฟ้าจำนวนมาก อีกทั้งกล้วยไม้เจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอ
นี่คือโจทย์ที่ ผศ.จิตราพรรณ พิลึก อาจารย์คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตัดสินใจทดลองนำหลอด "แอลอีดี" มาใช้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้ดังกล่าว โดยได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปรากฏว่ากล้วยไม้มีอัตราการรอดสูงและโตเร็ว
ผศ.จิตราพรรณ บอกว่า การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แสงเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในการเจริญเติบโตและคุณภาพของต้นพืช ชนิดของแสงที่มีผลต่อกระบวนการสังเคราะห์แสง คือ visible light ซึ่งเป็นแสงที่ตามองเห็น มีความยาวคลื่นระหว่าง 380-760 นาโนเมตร ซึ่งมีคุณสมบัติตรงกับหลอด "แอลอีดี" (LEDs) หรือ Light Emitting Diodes ที่ไดโอดสามารถเปล่งแสงออกมาได้ โดยแสงที่เปล่งออกมาประกอบด้วยคลื่นความถี่เดียวและเฟสต่อเนื่อง ต่างกับแสงธรรมชาติ ซึ่งประกอบด้วยคลื่นซึ่งมีเฟสและความถี่ต่างๆ กันมารวมกัน ด้วยเหตุนี้หลอด "แอลอีดี" จึงมีลักษณะดีกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการนำหลอดไฟชนิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้งานได้สารพัดและเราคุ้นเคย เป็นอย่างดีในชีวิตประจำวัน เช่น ภาคการแสดงผลของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, ตัวส่งสัญญาณควบคุม, โคมไฟสัญญาณจราจร, ป้ายแจ้งข่าวสารสาธารณะ, โคมไฟทางเดิน และโคมไฟประดับ เป็นต้น
จุดเด่นของหลอด "แอลอีดี" ในการใช้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนั้น ผศ.จิตราพรรณ อธิบายว่า 1.ประหยัดพลังงานกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์ 10-15 เท่า 2.หลอดไฟชนิดนี้ไม่มีไส้ อายุการใช้งานจึงนานถึง 1 แสนชั่วโมง ถือว่าสูงกว่าหลอดธรรมดา 3.ไม่ใช้บัลลาส 4.การปลดปล่อยความร้อนออกมาน้อยกว่าหลอดธรรมดา 5.แสงตรงไปยังเป้าหมายที่ต้องการและสามารถกำหนดองศาแสงได้ 6.ใช้แรงดันไฟฟ้าต่ำ 3-9 โวลต์ ขณะที่หลอดฟลูออเรสเซนต์ใช้ 220 โวลต์ และข้อสุดท้าย สามารถกำหนดช่วงแสงที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิดได้
การ ใช้หลอด "แอลอีดี" ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้สกุลฟาแลนนอพซิสนั้น ใช้ไฟ 2 สี คือ สีแดง และสีน้ำเงิน โดยยึดอัตราส่วนในการติดตั้งไฟดังนี้ "ระยะการพัฒนาของตาบนก้านช่อดอก" คือหลังการปักชำก้านช่อดอกที่มีตา 1 ตา ในแต่ละก้านให้เลี้ยงภายใต้แสงสีแดง 100% นาน 60 วัน ตาที่ก้านช่อดอกพัฒนาได้ดี "ระยะการพัฒนาของตาบนก้านช่อดอกอ่อน" ซึ่งปักชำบนอาหารกึ่งแข็ง 60 วัน ใช้หลอด "แอลอีดี" สีแดง 90% สีน้ำเงิน 10% กล้วยไม้พัฒนาถึงร้อยละ 60 ขณะที่เลี้ยงภายใต้แสงไฟหลอดฟลูออเรสเซนต์พัฒนาเพียงร้อยละ 57.2 "ระยะการเพิ่มจำนวน" เมื่อย้ายไปเลี้ยงในอาหารเหลว วางบนเครื่องเขย่า ภายใต้การเลี้ยงจากหลอดไฟทั้ง 2 ชนิด เป็นเวลา 60 วัน พบว่า หลอด "แอลอีดี" สีแดง 80% สีน้ำเงิน 20% ช่วยให้เพิ่มจำนวนจากเดิมถึง 12.25 เท่า ส่วนหลอดฟลูออเรสเซนต์เพิ่มเพียง 5 เท่า
สุดท้าย "ระยะการเจริญเติบโตของต้น" การเลี้ยงต้นขนาดเล็กในสภาพปลอดเชื้อ 120 วัน เพื่อให้เจริญเติบโตเป็นต้นขนาดใหญ่ก่อนนำออกปลูก การเลี้ยงในสภาพแสงจากหลอด "แอลอีดี" สีแดง 100% หรือ สีแดง 90% สีน้ำเงิน 10% ต้นมีน้ำหนักสดและความสูงมากกว่า แสงจากหลอดฟลูออเรสเซนต์เช่นกัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 27 มีนาคม 2550
http://www.komchadluek.net/2007/03/27/b002_101248.php?news_id=101248